กำเนิดสาธารณรัฐอิตาลี (ค.ศ. 1946) ของ ราชอาณาจักรอิตาลี

พระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2 กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอิตาลี

ผลที่ตามมาหลังจากเผชิญสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อิตาลีสูญสิ้นทุกอย่าง ทั้งระบบเศรษฐกิจที่พังพินาศ ความแตกแยกทางสังคม และความเคียดแค้นของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งให้การสนับสนุนระบอบฟาสซิสต์มาถึง 20 ปี ความเคียดแค้นดังกล่าวได้งอกงามขึ้นไปพร้อมกับความอับอายที่อิตาลีต้องถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมนีและต่อมาก็ถูกครอบงำโดยสัมพันธมิตร ยิ่งไปกว่านั้นก่อนที่ระบอบฟาสซิสต์จะเริ่มเรืองอำนาจ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ถูกมองว่าล้มเหลวจากการที่เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจถึงขีดสุดระหว่างอิตาลีฝ่ายเหนือที่มั่งคั่งกับอิตาลีฝ่ายใต้ที่แร้นแค้น ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้รับมาเพียงน้อยนิดและถูกมองว่าเป็นสิ่งที่บ่มเพาะให้ลัทธิฟาสซิสต์เรืองอำนาจขึ้น ความไม่พอใจเหล่านี้เองได้ส่งผลให้ขบวนการนิยมสาธารณรัฐของอิตาลีคืนชีพขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ผลการลงประชามติสถาปนาสาธารณรัฐอิตาลีในปี ค.ศ. 1946

จากการสละราชสมบัติของพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 ในปี ค.ศ. 1946 ทำให้พระราชโอรสของพระองค์คือ เจ้าชายอุมแบร์โตที่ 2 ได้สืบสันตติวงศ์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ พระองค์ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความขัดแย้งที่อาจเป็นสงครามกลางเมืองได้ ในการเรียกร้องให้จัดการลงประชามติขึ้นว่าจะยังคงสถาบันกษัตริย์เอาไว้หรือเปลี่ยนผ่านสู่สาธารณรัฐ ในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1946 ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐเป็นฝ่ายชนะการลงประชามติด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 54 จากคะแนนเสียงทั้งหมด ยังผลให้อิตาลีเปลี่ยนผ่านเป็นสาธารณรัฐอย่างเป็นทางการ ตารางผลคะแนนของการลงประชามติในครั้งนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในดินแดนส่วนต่างๆ ของอิตาลี โดยสามารถจำแนกพื้นที่การลงคะแนนเสียงออกได้เป็น 2 พื้นที่ใหญ่ คือ พื้นที่ของฝ่ายเหนือส่วนใหญ่ลงมติเลือกระบอบสาธารณรัฐ (ร้อยละ 66.2) ส่วนฝ่ายใต้ส่วนใหญ่เลือกระบอบกษัตริย์ (ร้อยละ 63.8) ส่วนผลการลงคะแนนในทางตรงกันข้ามก็เป็นไปในทำนองเดียวกันทั้งสองพื้นที่ ฝ่ายนิยมกษัตริย์บางกลุ่มได้ออกมาอ้างว่าการลงประชามติถูกแทรกแซงโดยฝ่ายเหนือซึ่งนิยมสาธารณรัฐและลัทธิสังคมนิยม อีกทั้งยังมีข้อโต้แย้งด้วยว่า ในปี ค.ศ. 1946 อิตาลียังวุ่นวายและไร้เสถียรภาพเกินกว่าที่จะกระทำการลงประชามติให้ได้ผลที่แท้จริง โดยที่พระองค์ไม่ได้ทรงคำนึงถึงการหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง พระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2 ได้ทรงสละราชสมบัติจากราชบัลลังก์อิตาลี สาธารณรัฐใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นด้วยความขมขื่นจากความขุ่นเคืองใจของรัฐบาลใหม่ซึ่งต่อต้านราชวงศ์ซาวอย เชื้อพระวงศ์ที่เป็นบุรุษต่างถูกจับขังเมื่อเข้าเขตแดนอิตาลีในปี ค.ศ. 1948 และกฎหมายที่กีดกันเหล่าพระราชวงศ์นี้พึ่งจะถูกประกาศยกเลิกเมื่อปี ค.ศ. 2002

ใกล้เคียง

ราชอาณาจักรอิตาลี ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2496–2513) ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ราชอาณาจักรฮังการี (ค.ศ. 1920–1946) ราชอาณาจักรลิเบีย ราชอาณาจักรปรัสเซีย ราชอาณาจักรนาวาร์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรมาเกโดนีอา

แหล่งที่มา

WikiPedia: ราชอาณาจักรอิตาลี http://www.axishistory.com/index.php?id=37 http://www.germaniainternational.com/images/bookgi... http://www.germaniainternational.com/images/bookgi... http://books.google.com/books?id=MTWM6PjNvBMC&pg=P... http://www.spiritus-temporis.com/june-1934/ http://www.law.fsu.edu/library/collection/Limitsin... http://greatoceanliners.net/rex.html http://historicalresources.org/2008/09/17/mussolin... http://historicalresources.org/2008/09/19/mussolin... http://www.royin.go.th/th/webboardnew/answer.php?G...